มูลนิธิกระจกอาซาฮี (The Asahi Glass Foundation – AF) ประเทศญี่ปุ่น ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จัดพิธีมอบทุนวิจัยประจำปี 2567 (Research Grant Award Ceremony 2024) ขึ้นเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2567 โดยมี นายทาคุยะ ชิมามุระ (Mr. Takuya Shimamura) ประธานมูลนิธิกระจกอาซาฮี และประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท AGC Inc. และ รศ. ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มจธ. กล่าวแสดงความยินดี และ ดร.กัญญวิมว์ กีรติกร รองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มจธ. กล่าวรายงาน ณ ห้อง LIB108 สำนักหอสมุด มจธ.
รศ. ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มจธ. กล่าวว่าทุนวิจัยมูลนิธิกระจกอาซาฮีเป็นทุนสนับสนุนนักวิจัยในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่อาจนำไปสู่แนวทางแก้ไขปัญหา โดยมูลนิธิฯ ได้มอบทุนให้ มจธ. อย่างต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 13 ซึ่งในปีนี้ มจธ. ได้รับสนับสนุนทุนวิจัยจากมูลนิธิฯ จำนวน 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ (USD) และมหาวิทยาลัยร่วมสมทบทุนวิจัยอีก จำนวน 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ (USD) รวมเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ (USD) หรือประมาณ 3,400,000 ล้านบาท ให้กับ 6 โครงการ ใน 4 สาขาการวิจัย ได้แก่
สาขาชีววิทยาศาสตร์ (Life Sciences)
✨ดร.กรกันยา ประทุมยศ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์
โครงการ แอมฟิฟิลิกไคโตซานที่สามารถจัดเรียงตัวเองได้สำหรับใช้เป็นวัสดุนำส่งยีน
สาขาชีววิทยาศาสตร์ (Life Sciences)
✨ดร.โศภิตา แสงเพชร คณะวิศวกรรมศาสตร์
โครงการ การศึกษาการตอบสนองของเซลล์และโปรตีนทั้งหมดของเซลล์ต้นกำเนิดชนิดมีเซนไคม์เยื่อหุ้มข้อในแผ่นเซลล์กระดูกอ่อนหลายชั้นเพื่อพัฒนาการสร้างเนื้อเยื่อกระดูกอ่อน
สาขาวัสดุศาสตร์ (Materials Sciences)
✨ผศ. ดร.ปาริชาต นฤพนธ์จิรกุล อาจารย์ประจำหลักสูตรวิศวกรรมชีวภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์
โครงการ ผลของไอออนบำบัดต่อสมบัติทางกายภาพ เคมี และชีวภาพของโครงเลี้ยงเซลล์จากแก้วชีวภาพด้วยกระบวนการโซล-เจลแบบโฟมสำหรับวิศวกรรมเนื้อเยื่อกระดูก
สาขาวัสดุศาสตร์ (Materials Sciences)
✨รศ. ดร.สมพิศ วันวงษ์ อาจารย์ประจำสายวิชาเทคโนโลยีวัสดุ คณะพลังงานสิ่งแวดล้อมและวัสดุ
โครงการ การพัฒนาฟิล์มคอมโพสิตจากพอลิไดเมทิลไซลอกเซน (PDMS) สำหรับไตรโบอิเล็กทริกนาโนเจเนอเรเตอร์ที่เก็บเกี่ยวพลังงานน้ำ และการผสานเข้ากับโซล่าร์เซลล์เพื่อเก็บเกี่ยวพลังงานผสม (หยดน้ำและแสงแดด)
สาขาสิ่งแวดล้อม (Environment Sciences)
✨ดร.วรธา กลิ่นสวาท อาจารย์ประจำคณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี และศูนย์วิจัย Conservation Ecology
โครงการ OtGene: เครือข่ายความร่วมมือด้านพันธุศาสตร์ประชากรเพื่อการอนุรักษ์และปราบปรามการค้านากผิดกฎหมายในภูมิภาคเอเชีย
สาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์และวิศวกรรมผังเมือง (Architecture and Urban Engineering)
✨ผศ. ดร.ชเนนทร์ มั่นคง อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ
โครงการ มุมมองที่แตกต่างในงานอนุรักษ์สถาปัตยกรรม แนวคิดเรื่อง ความสำเร็จในการอนุรักษ์จากมุมมองของชุมชนจากภูมิภาคตะวันตกของประเทศไทย
#KMUTT #AsahiGlassFoundation #2024