ทรัพย์สินทางปัญญา – Intellectual Property

ทรัพย์สินทางปัญญาคืออะไร

“ทรัพย์สิน” ตามกฎหมายไทย ประกอบด้วย 3 ประเภท คือ
1. สังหาริมทรัพย์ หมายถึง ทรัพย์ที่สามารถเคลื่อนที่ได้ เช่น ข้าวของเครื่องใช้ เสื้อผ้า รถยนต์ ฯลฯ
2. อสังหาริมทรัพย์ หมายถึง ที่ดินหรือสิ่งใดๆที่ติดอยู่กับที่ดินในลักษณะถาวรซึ่งไม่อาจเคลื่อนที่ได้ เช่น ห้วย หนอง คลอง บึง อาคาร สิ่งก่อสร้าง ฯลฯ
3. ทรัพย์สินทางปัญญา หมายถึง ผลผลิตซึ่งเกิดจากปัญญาของมนุษย์

ความสำคัญของกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา

ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นทรัพย์สินประเภทหนึ่งที่สามารถใช้หาประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้เช่นเดียวกับทรัพย์สินประเภทอื่นๆ สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา จึงเป็นสิทธิตามกฎหมายที่ผู้ทรงสิทธิมีฐานะเป็นเจ้าของตามกฎหมาย มีสิทธิเด็ดขาดแต่ผู้เดียวในการหาประโยชน์

กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาบัญญัติขึ้นโดยมีเจตนารมณ์เพื่อตอบแทนความอุตสาหะที่ผู้สร้างสรรค์ทุ่มเทเวลาในการศึกษาค้นคว้าวิจัยสรรค์สร้างผลงานอันทรงคุณค่าและคุณประโยชน์ขึ้นมาให้กับสังคมโลก และจูงใจให้มีการวิจัยและพัฒนาอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อส่วนรวมเมื่อทรัพย์สินทางปัญญานั้นสิ้นสุดระยะเวลาการคุ้มครองแล้ว

กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญามีความสำคัญและก่อให้เกิดประโยชน์กับคนไทยโดยแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน คนไทยไม่ได้อยู่ในฐานะของผู้บริโภคเพียงอย่างเดียว แต่คนไทยมีความสามารถและมีศักยภาพในการสร้างสรรค์งานทรัพย์สินทางปัญญาเป็นของตนเอง ช่วยลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ สามารถแข่งขันทางเศรษฐกิจ อีกทั้งยังเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับนานาประเทศ และเสริมสร้างให้มีการลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น

ประเภทของทรัพย์สินทางปัญญา

1. ลิขสิทธิ์ (Copyright)

กฎหมาย

พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537
แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2558 / ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2558 / ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2561 และฉบับที่ 5 พ.ศ. 2565

ความหมาย

1. เป็นงานที่สร้างสรรค์จากความคิดริเริ่มของตนเอง (Originality)
2. มีการแสดงออกของความคิด (Expression of Ideas)
3. เป็นงานสร้างสรรค์ 9 ประเภทที่ไม่ขัดต่อกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

ลักษณะงานที่ได้รับความคุ้มครอง

งานสร้างสรรค์ 9 ประเภท คือ งานวรรณกรรม นาฏกรรม ศิลปกรรม ดนตรีกรรม โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง งานแพร่เสียงแพร่ภาพ และงานอื่นใดในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ และแผนกศิลปะ

ระยะเวลาคุ้มครอง

ตลอดชีวิตของผู้สร้างสรรค์ + 50 ปีหลังจากผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย (ในกรณีทั่วไป)

การขอรับความคุ้มครอง

ได้รับความคุ้มครองทันทีที่งานปรากฏ ไม่ต้องจดทะเบียน แต่แจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ได้ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์

2. ทรัพย์สินอุตสาหกรรม (Industrial Property)

2.1 สิทธิบัตร (Patent)

กฎหมาย

พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ. 2522
แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2535 / ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2542

ความหมาย

หนังสือที่สำคัญที่รัฐออกให้เพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์คิดค้น (Invention) และการออกแบบผลิตภัณฑ์ (Product Design)

ลักษณะงานที่ได้รับความคุ้มครอง

การประดิษฐ์
1. เป็นการประดิษฐ์ใหม่ (ทั่วโลก)
2. มีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น
3. สามารถประยุกต์ใช้ในทางอุตสาหกรรม

การออกแบบผลิตภัณฑ์
1. เป็นแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ (ทั่วโลก)
2. เพื่ออุตสาหกรรมรวมทั้งหัตถกรรม

ระยะเวลาคุ้มครอง

การประดิษฐ์
20 ปีนับจากวันยื่นคำขอ หรือเท่าระยะเวลาที่ชำระค่าธรรมเนียมรายปี

การออกแบบผลิตภัณฑ์
10 ปีนับจากวันยื่นคำขอ หรือเท่าระยะเวลาที่ชำระค่าธรรมเนียมรายปี

การขอรับความคุ้มครอง

จดทะเบียนที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา

2.2 อนุสิทธิบัตร (Petty Patent)

กฎหมาย

พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2542

ความหมาย

หนังสือที่สำคัญที่รัฐออกให้เพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์คิดค้น (Invention) เป็นการคุ้มครองการประดิษฐ์ที่มีเทคโนโลยีไม่สูงพอที่จะขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ แต่สามารถใช้ประโยชน์ได้ดี ใช้งานได้จริง ซึ่งเหมาะสมกับการพัฒนาเทคโนโลยีในประเทศไทย

ลักษณะงานที่ได้รับความคุ้มครอง

1. เป็นการประดิษฐ์ใหม่ (ทั่วโลก)
2. สามารถประยุกต์ใช้ในทางอุตสาหกรรม

ระยะเวลาคุ้มครอง

6 ปี และขอขยายเวลาคุ้มครองได้ 2 ครั้งๆละ 2 ปี (รวม 10 ปี)

การขอรับความคุ้มครอง

จดทะเบียนที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา

2.3 เครื่องหมายการค้า (Trade Mark)

กฎหมาย

พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534
แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2543 และฉบับที่ 3 พ.ศ. 2559

ความหมาย

เครื่องหมาย (ภาพถ่าย ภาพวาด ภาพประดิษฐ์ ตรา ชื่อ คํา ข้อความ ตัวหนังสือ ตัวเลข ลายมือชื่อ กลุ่มของสี รูปร่างหรือรูปทรงของวัตถุ เสียง หรือสิ่งเหล่านี้ อย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน) ที่ใช้เป็นเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง  และเครื่องหมายร่วม

ลักษณะงานที่ได้รับความคุ้มครอง

เครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง และเครื่องหมายร่วมที่
1. มีลักษณะเฉพาะ
2. ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายนี้
3. ไม่เหมือนหรือคล้ายกับของผู้อื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว

ระยะเวลาคุ้มครอง

10 ปีนับแต่วันที่จดทะเบียน และอาจต่ออายุได้ทุกๆ 10 ปี

การขอรับความคุ้มครอง

จดทะเบียนที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา

2.4 คุ้มครองการคุ้มครองพันธุ์พืช (Plants Varieties)

กฎหมาย

พ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542

ความหมาย

การส่งเสริมให้มีการปรับปรุงพันธุ์และพัฒนาพันธุ์พืชขึ้นใหม่เพิ่มเติมจากที่มีอยู่เดิม  การส่งเสริมเกษตรกรรม การอนุรักษ์และพัฒนาการใช้ประโยชน์พันธุ์พืชเพื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลบำรุงรักษา และจัดตั้งกองทุนคุ้มครองพันธุ์พืชเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนและครบวงจร

ลักษณะงานที่ได้รับความคุ้มครอง

1. พันธุ์พืชใหม่
2. พันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น
3. พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป
4. พันธุ์พืชป่า

ระยะเวลาคุ้มครอง

พันธุ์พืชใหม่และพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น
– พืชล้มลุก 12 ปี
– พืชยืนต้น 17 ปี
– พืชที่ใช้ประโยชน์จากเนื้อไม้ 27 ปี
(เฉพาะพืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นที่ขอโดยชุมชนหรือกลุ่มเกษตรกร ขยายเวลาการคุ้มครองได้อีกครั้งละ 10 ปี)
พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไปและพันธุ์พืชป่า รัฐเป็นผู้มีสิทธิ

การขอรับความคุ้มครอง

จดทะเบียนที่กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

2.5 แบบผังภูมิวงจรรวม (Layout-Designs, Topography, Integrated Circuit)

กฎหมาย

พ.ร.บ. คุ้มครองแบบผังภูมิวงจรรวม พ.ศ. 2543

ความหมาย

แบบ แผนผัง หรือภาพที่ทำขึ้นในรูปแบบหรือวิธีใดๆ ที่จัดวางให้เป็นวงจรรวม เป็นแบบของวงจรไฟฟ้าที่ได้ออกแบบขึ้นมา (Layout Design) และตัวชุดหน้ากากหรือแผ่นบัง (Mask Work) ซึ่งเป็นตัวต้นแบบที่ใช้ในการสร้างให้เกิดแบบผังภูมิ

ลักษณะงานที่ได้รับความคุ้มครอง

1. เป็นแบบผังภูมิที่สร้างสรรค์ขึ้นเองและไม่เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปในอุตสาหกรรมวงจรรวม
2. เป็นแบบผังภูมิที่ได้สร้างสรรค์ขึ้นใหม่โดยนำเอาชิ้นส่วน ส่วนเชื่อมต่อแบบผังภูมิหรือวงจรรวมอันเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปมาจัดวางใหม่ ทำให้เกิดเป็นแบบผังภูมิใหม่

ระยะเวลาคุ้มครอง

10 ปีนับตั้งแต่ยื่นคำขอจดทะเบียน

การขอรับความคุ้มครอง

จดทะเบียนที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา

2.6 ความลับทางการค้า (Trade Secret)

กฎหมาย

พ.ร.บ. ความลับทางการค้า พ.ศ. 2545
แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2558

ความหมาย

ข้อมูลทางการค้าที่เป็นความลับ

ลักษณะงานที่ได้รับความคุ้มครอง

เป็นข้อมูลทางการค้าที่ยังไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อน มีประโยชน์ในเชิงพาณิชย์เนื่องจากการเป็นความลับนั้น และได้ใช้มาตรการที่เหมาะสมเพื่อรักษาไว้เป็นความลับ

ระยะเวลาคุ้มครอง

ไม่มีกำหนดระยะเวลาตราบเท่าที่ยังเป็นความลับอยู่

การขอรับความคุ้มครอง

ไม่ต้องจดทะเบียน

2.7 สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications)

กฎหมาย

พ.ร.บ. คุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พ.ศ. 2546

ความหมาย

ชื่อ สัญลักษณ์ หรือสิ่งอื่นใดที่ใช้เรียกหรือใช้แทนแหล่งภูมิศาสตร์ และสามารถบ่งบอกว่าสินค้าที่เกิดจากแหล่งภูมิศาสตร์นั้นเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ มีชื่อเสียง หรือคุณลักษณะเฉพาะของแหล่งภูมิศาสตร์นั้น ป้องกันความหลงผิดหรือสับสนของสาธารณชน และเพื่อให้ประโยชน์แก่ผู้ผลิตสินค้าที่ได้รับความคุ้มครอง

ลักษณะงานที่ได้รับความคุ้มครอง

– สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์โดยตรง เช่น ส้มบางมด ครกอ่างศิลา นาฬิกาสวิส
– สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์โดยอ้อม เช่น ชาละวันหมายถึงจังหวัดพิจิตร กำแพงเมืองจีนหมายถึงประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน

ระยะเวลาคุ้มครอง

ไม่มีกำหนดระยะเวลา

การขอรับความคุ้มครอง

ขึ้นทะเบียนที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา

แบบฟอร์ม

new icon การแจ้งความจำนงการขอรับสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร และการแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ โปรดดำเนินการผ่านระบบบริหารงานวิจัยและนวัตกรรม (KMUTT

 Integrated System for Research and Innovation Management: KIRIM) ท่านสามารถศึกษาการใช้ระบบ KIRIM ได้จากวิดีโอการอบรมการใช้งาน ตามลิงก์นี้

หมายเหตุ เมนูหรือข้อความบางหัวข้ออาจมีการปรับเปลี่ยนจากที่แสดงในวิดีโอ

ระเบียบว่าด้วยงานทรัพย์สินทางปัญญา มจธ.

set1
set2
set3
set4

ติดต่อสอบถาม

งานทรัพย์สินทางปัญญา สำนักงานวิจัย นวัตกรรมและพันธมิตร
อาคารสำนักงานอธิการบดี ชั้น 7 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
126 ถนนประชาอุทิศ แขวงบางมด เขตทุ่งครุ กรุงเทพมหานคร 10140
โทร : 0-2470-9663
อีเมล์ : ip@kmutt.ac.th

ติดต่อ สำนักงานวิจัย นวัตกรรมและพันธมิตรCresta Social Messenger
X
Copyright Ⓒ 2021 by KMUTT. All rights reserved.