สิทธิประโยชน์ทางภาษี

กลุ่มงานส่งเสริมและบริการวิจัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้รับทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี (เอกชนสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้)

กลุ่มงานส่งเสริมและบริการวิจัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (ภายใต้สำนักงานวิจัย นวัตกรรม และพันธมิตร) ได้รับการแต่งตั้งจากกระทรวงการคลังให้เป็นหน่วยงาน “ผู้รับทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี” หน่วยงานในลำดับที่ 430 ตามประกาศรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เรื่อง “รายชื่อผู้รับทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี (ฉบับที่ 389)” ซึ่งจะส่งผลให้ภาคเอกชนที่มาว่าจ้างกลุ่มงานส่งเสริมและบริการวิจัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ทำวิจัยสามารถนำไปลดหย่อนภาษี (ขึ้นอยู่กับนโยบายภาครัฐในแต่ละปี) โดยขอบเขตงานที่เกี่ยวข้องตามประกาศกระทรางการคลังเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 391) เรื่อง “กําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการยกเว้นภาษีเงินได้สําหรับรายจ่ายเพื่อทําการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม” ซึ่งการรับจ้างวิจัยถือเป็นงานบริการวิชาการตามระเบียบมหาวิทยาลัยฯ ว่าด้วยการรับจ่ายเงินงานรับจ้างและค่าบริการ ฉบับ พ.ศ. 2548 และ พ.ศ. 2551

กิจกรรมการวิจัย ที่ผู้ว่าจ้างสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ ประกอบด้วย
1. การดำเนินงานเชิงทฤษฎี เชิงปฏิบัติการ หรือการดำเนินงานใดๆ ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้าง ค้นหาความรู้ใหม่ หรือเพื่อความก้าวหน้าจากความรู้เดิมที่มีอยู่
2. การค้นคว้า การวิจัย การพัฒนา หรือการดำเนินการอื่นใด เพื่อใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้พื้นฐาน
3. การคิดค้นสูตรหรือการออกแบบเพื่อประยุกต์ใช้ประโยชน์
4. การทดสอบเพื่อค้นหาหรือประเมินทางเลือกต่างๆ ของผลิตภัณฑ์ใหม่ บรรจุภัณฑ์ใหม่ กระบวนการใหม่ และการบริการใหม่
5. การออกแบบ สร้างและการทดสอบชิ้นงาน ต้นแบบ หุ่นจำลอง และชุดพัฒนา
6. การออกแบบผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ กระบวนการ การบริการ หรือระบบใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีใหม่ หรือเกี่ยวข้องกับการปรับปรุงของเดิมอย่างมีสาระสำคัญ หรือที่มีการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา
7. การพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ
8. การสร้างกระบวนการผลิตนำร่อง
9. กิจกรรมทางเทคโนโลยีเพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบกพร่องของผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิตที่สืบเนื่องจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ หรือการสร้างกระบวนการผลิตนำร่อง
10. งานวิศวกรรมอุตสาหการและการตั้งเครื่องใหม่ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือกระบวนการใหม่ที่สืบเนื่องจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ หรือการสร้างกระบวนการผลิตนำร่อง
11. การออกแบบเพื่อการผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือกระบวนการผลิตใหม่ที่สืบเนื่องจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ หรือการสร้างกระบวนการผลิตนำร่อง

12. อื่นๆ ได้แก่
12.1 การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและซอฟต์แวร์ (IT/Software)
– การพัฒนาหรือปรับปรุงให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ หรือเทคโนโลยีเฉพาะด้าน
– การพัฒนาอัลกอริทึม หรือลำดับขั้นตอนในกระบวนการทำงาน
– การออกแบบเทคนิคการจัดการฐานข้อมูลใหม่
– การพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการทางเทคโนโลยีสารสนเทศและซอฟต์แวร์ ซึ่งจะต้องแสดงให้เห็นว่ากระบวนการมีลักษณะสำคัญหรือลักษณะเฉพาะที่พิเศษและมีประสิทธิภาพดีขึ้น

12.2 การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านยาและเคมีภัณฑ์ (Pharmaceutics/Chemicals)
– การผลิตยาให้เหมือนยาต้นแบบที่หมดระยะเวลาการคุ้มครองตามสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรแล้ว
– การทดสอบประสิทธิภาพสารเคมี ซึ่งมีการแสดงให้เห็นกระบวนการทดลองหรือแนว ทางการดำเนินงานในเชิงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเป็นการประเมินทางเลือกของผลิตภัณฑ์ และสามารถนำไปใช้ได้จริง
– การดำเนินงานทดสอบหรือการขอการรับรองมาตรฐานที่เป็นการสร้างความก้าวหน้าจากองค์ความรู้เดิมที่มีอยู่ หรือต่อยอดงานวิจัยและพัฒนาในเชิงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยพิจารณาตามลักษณะการดำเนินการเป็นรายโครงการ

12.3 การประเมินวัฏจักรชีวิต (Life Cycle Assessment : LCA)
12.4 การนำองค์ความรู้จากการซื้อและใช้สิทธิในเทคโนโลยี (Licensing) สำหรับนำมาใช้พัฒนาต่อยอดการปรับปรุงเครื่องจักร หรือการทดสอบการทำงานทั้งระบบ (Commissioning Test) หรือการทำ Production Test ตามระยะเวลาของการดำเนินงาน

สิทธิประโยชน์ทางภาษี

ติดต่อสอบถาม

คุณญาใจ รัตนปรมากุล
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (บางขุนเทียน)
49 ซอยเทียนทะเล 25 ถนนบางขุนเทียน-ชายทะเล แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ 10150
โทร. 02-470-7401
อีเมล์ : yajai.wit@kmutt.ac.th

ติดต่อ สำนักงานวิจัย นวัตกรรมและพันธมิตรCresta Social Messenger
X
Copyright Ⓒ 2021 by KMUTT. All rights reserved.