แนวทางการเข้าดำเนินงานวิจัยในสภาวะวิกฤติการระบาดของโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19)

แนวทางการเข้าดำเนินงานวิจัยในสภาวะวิกฤติการระบาดของโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19)

  • Post author:ripo_admin
  • Post published:15 September 2021
  • Post category:News

 ประกาศศูนย์ปฏิบัติการและให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินต่อสภาวะวิกฤตโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

เรื่อง แนวทางการเข้าดำเนินงานวิจัยในสภาวะวิกฤติการระบาดของโรคติดเชื้อ

ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19)

ดาวน์โหลด

ตามที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้มีประกาศมหาวิทยาลัย เรื่อง มาตรการและการเฝ้าระวังการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ฉบับที่ 34 ปิดสถานที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีทุกพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร เป็นการชั่วคราว นั้น ทั้งนี้เพื่อให้สามารถดำเนินการวิจัยอย่างเหมาะสมสอดคล้องกับประกาศมหาวิทยาลัยดังกล่าว โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของบุคลากร และประสิทธิภาพในการดำเนินงานวิจัย ศูนย์ปฏิบัติการและให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินต่อสภาวะวิกฤตโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จึงได้กำหนดแนวทางการเข้าทำงานวิจัยและงานบริการวิชาการ ในสภาวะวิกฤติการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1. การเข้าทำงานวิจัยและงานบริการวิชาการ หมายความว่า การเข้าพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเพื่อปฏิบัติหน้าที่หรือมาดำเนินงานวิจัยและงานบริการวิชาการของอาจารย์ นักวิจัย บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยและงานบริการวิชาการ เช่น ผู้ช่วยวิจัย นักวิทยาศาสตร์ ลูกจ้างโครงการวิจัย เป็นต้น รวมถึงนักศึกษาระดับปริญญาตรีในชั้นปีสุดท้าย และนักศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา โดยให้จำกัดเฉพาะผู้ที่มีเหตุจําเป็นอย่างยิ่ง อันได้แก่ การทำโครงการวิจัยหรือวิทยานิพนธ์เพื่อให้สำเร็จการศึกษา การดําเนินโครงการวิจัยและบริการวิชาการที่มีสัญญาผูกพันธ์ และงานที่ได้รับมอบหมายจากมหาวิทยาลัยหรือผู้บังคับบัญชาให้มาปฏิบัติภารกิจที่มีความจําเป็นและเร่งด่วน เพื่อดำเนินงานหรือพัฒนาโครงการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับโรค COVID-19

2. บุคลากรวิจัยผู้เข้ามาในสถานศึกษาทุกคนต้องปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ตามที่รัฐบาลและมหาวิทยาลัยกำหนดอย่างเคร่งครัด ดังนี้
2.1 ดำเนินการตามมาตรการ DMHTTA อย่างเคร่งครัด
2.2 งดรับประทานอาหารร่วมกันโดยเด็ดขาด
2.3 ให้สวมหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ตลอดเวลาที่อยู่ในสถานศึกษา
2.4 จำกัดจำนวนผู้ร่วมกลุ่มกันไม่เกิน 5 คนต่อห้อง และต้องมีอัตราส่วนพื้นที่ต่อบุคลากรไม่น้อยกว่า 3.2 ตารางเมตรต่อคน
2.5 ตรวจสอบตนเองว่าเป็นผู้ที่ปลอดภัย ไม่เป็นกลุ่มเสี่ยง และไม่มีอาการบ่งชี้ว่าจะเป็นกลุ่มเสี่ยง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อตนเองและสังคม

3. ให้คณะหรือหน่วยงานจัดทำแผนการเข้าปฏิบัติงาน ณ มหาวิทยาลัยล่วงหน้าเป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ และเสนอเอกสารคำขอเพื่อขอการอนุมัติ ก่อนวันเข้าดำเนินการอย่างน้อย 3 วันทำการ โดยต้องทบทวนแผนการเข้ามหาวิทยาลัยให้สอดคล้องกับข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 28)
คณะหรือหน่วยงานต้องส่งแผนการเข้ามหาวิทยาลัยที่ได้รับความเห็นชอบจากคณบดีหรือหัวหน้าหน่วยงาน ซึ่งระบุรายชื่อผู้ที่จะเข้ามาทำงาน วัตถุประสงค์การเข้าพื้นที่ และตารางเวลาการเข้ามหาวิทยาลัย มาที่ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการและให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินต่อสภาวะวิกฤตโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดยให้จัดส่งเอกสารคำขอและข้อมูลทั้งหมดเป็นเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ที่ e-mail: nichapha.nua@kmutt.ac.th
ในกรณีนักศึกษาที่ต้องการเข้ามหาวิทยาลัย ต้องลงนามในหนังสือยินยอม เรื่อง การขออนุญาตเข้ามาทำกิจกรรมด้านการศึกษาและการทำวิจัยในมหาวิทยาลัยภายใต้มาตรการและการเฝ้าระวังการระบาดของโรค COVID-19 เพื่อแสดงความยินยอมการเข้าพื้นที่ โดยสามารถดาวโหลดเอกสารยินยอม จาก http://tiny.cc/yhjauz พร้อมทั้งส่งเอกสารคำขอและข้อมูลทั้งหมดเป็นเอกสารอิเล็กทรอนิกส์มาที่ e-mail: nichapha.nua@kmutt.ac.th

4. ห้องปฏิบัติการวิจัยควรพิจารณาดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติเพื่อบริหารจัดการห้องปฏิบัติการในสภาวะวิกฤติการระบาดของโรคโควิด 19 (COVID-19) ดังนี้
4.1 จัดให้มีการทำความสะอาดพื้นที่ก่อนเริ่มปฏิบัติกิจกรรมการวิจัย
4.2 จัดให้มีมาตรการควบคุมการ เข้า-ออก ของพื้นที่ห้องปฏิบัติการในระหว่างปิดทำการ โดยมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเป็นผู้ควบคุมดูแลตามมาตรการที่มหาวิทยาลัยกำหนด
4.3 จัดให้มีระบบการตรวจสอบเครื่องมือที่ต้องเปิดใช้งานตลอดเวลา เช่น ตู้เย็น ตู้แช่แข็ง และอุปกรณ์สำรองไฟฟ้าและสำรองข้อมูลต่าง ๆ เป็นระยะ และให้มีการตรวจตราห้องเก็บสารเคมี ถังแก๊สและตู้เก็บเชื้อจุลินทรีย์ให้ปิดสนิท ไม่รั่วไหล หากพบความผิดปกติให้แจ้งเหตุและแก้ไขสถานการณ์ได้ทันท่วงที
4.4 ปิดใช้งานในพื้นที่ที่ไม่มีความจำเป็น จำกัดการเคลื่อนย้ายวัสดุอุปกรณ์ และจัดเก็บสารเคมีหรือวัสดุชีวภาพให้อยู่ในที่ปลอดภัย
4.5 ควบคุมการจัดการของเสียหรือขยะอันตรายและขยะติดเชื้อในพื้นที่ โดยให้มีการดำเนินการจัดเก็บและฆ่าเชื้อเป็นระยะ

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน 2564 หรือจนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง

ประกาศ ณ วันที่ 7 กันยายน 2564

(ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ คันธมานนท์)
ผู้อำนวยการ
ศูนย์ปฏิบัติการและให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินต่อสภาวะวิกฤตโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

ติดต่อ สำนักงานวิจัย นวัตกรรมและพันธมิตรCresta Social Messenger
X
Copyright Ⓒ 2021 by KMUTT. All rights reserved.